การสอบ Aptitude test
ในช่วงเช้า เราได้รับทราบข้อมูลต่างๆมากมาย จากท่านวิทยากร พร้อมกับการตอบปัญหาที่น้องๆ เขียนถามขึ้นมาช่วงเวลาจากนี้ไป เราก็จะ ลงไปในรายละเอียดทางด้านวิชาการสักเล็กน้อยครับ เพราะว่างานนี้จัดขึ้นโดยคณะนิสิตปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรม ซึ่งวิชา Personnel Selection ก็เป็นวิชาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนกันในหลักสูตรนี้ โดยท่านอาจารย์ ดร. รัชนีวรรณ ท่านก็เป็นอาจารย์สอนวิชานี้แก่ คณะนิสิตฯ รุ่นของกระผมเองครับ
การคัดเลือกพนักงานเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงาน คงต้องย้อนกลับมาที่ท่านอาจารย์ ดร. รัชนีวรรณ อีกครับว่า นอกจากการเฟ้นหาทางด้าน Aptitude test คือ ความถนัดในงานแล้วปัจจัยอื่น ๆ ในกระบวนการของPersonnel Selection ที่ยึดหลักของ K S A O ที่มาจากคำว่า Knowledge, Skill, Ability และ Other Characteristicsในแง่ของการทดสอบทางจิตวิทยา เราเน้นความสำคัญทางด้านไหนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ขอเรียนเชิญครับ
ดร.รัชนีวรรณ
หลักในการคัดเลือกก็คือ ดูตัวงานที่ต้องทำ
ดูงานที่ต้องทำว่า มีลักษณะอย่างไร เราจะต้องรู้อะไร ใช้ทักษะและความสามารถอะไร ต้องมีบุคลิกอย่างไร เพราะฉะนั้น แบบทดสอบก็จะมา Match กับสิ่งที่ต้องการวัด
บางคนบอกว่าไปสมัคร JAL ways ดีกว่า เพราะว่า JAL ways ไม่มีสอบข้อเขียน ไม่หมูหรอกนะคะดิฉันจะบอกให้ เพราะว่าสิ่งที่เขาทดแทนด้วยการสอบข้อเขียนก็คือการสัมภาษณ์ มันกลายเป็นการสอบจากการสัมภาษณ์โดยตรง เพราะฉะนั้น แทนที่คุณจะได้ผ่านกระบวนการของการอ่าน การคิด การเขียน คุณก็จะต้องตอบออกมาในทันทีทันใด หากการทดสอบเป็นการสัมภาษณ์ จะมาคิดว่า ตอบอะไรดีนะ ตอบอันนี้ดีกว่า หรืออันนั้นดีกว่า ยิ่งคิดนาน ความเงียบ จะกลายเป็นความตึงเครียดได้นะคะ
เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่นะคะ ดิฉันไม่ได้บอกว่าแบบทดสอบไม่ดี สัมภาษณ์ดีกว่า หรือตรงข้าม หรืออะไร ดิฉันเชื่อมมั่นว่า ในองค์กรสายการบินระดับนี้ ระบบการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และทำมาอย่างดีแล้ว เพราะฉะนั้นเขาก็สามารถคัดเลือกและเฟ้นหาได้ ประกอบกับผู้สมัครจำนวนเยอะมากขนาดนี้ โอกาสที่จะคัดเลือกคนพลาดคงมีน้อย เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องกังวล หรือคิดว่า เอ้... ไปติวดีกว่าไหม ลองไปหาโอกาสทำ 16 PF ก่อนดีไหม ที่ไหนมันมีฉันจะไปติว ไม่ต้องคิดนะคะ คือ คุณไปเตรียมอย่างอื่นดีกว่า ไม่ต้องไปเตรียมตรงนี้หรอกค่ะ
แล้วก็อย่าง Myers-Briggs ถ้าคุณเรียนจิตวิทยาคุณก็อาจจะคุ้น ๆ นะคะ (Myers-Briggs Type Indicator : MBTI เป็นแบบประเมินบุคลิกภาพ จัดแบ่งประเภทของบุคลิกภาพของคนออกเป็น 16 แบบ ) แต่มันเป็นตัวคุณจริงหรือเปล่าล่ะ คุณเคยได้ยินไหมคะ...ทุกขลาภน่ะค่ะ เหมือนเด็กบางคนอยากจะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลมากเลยนะคะ แล้วก็ได้ทุน จริง ๆ ได้ทุนไปเรียนเยอรมัน 10 ปี ผ่านไปนะคะ ยังไม่จบแม้ปริญญาตรี ลองคิดดูนะคะ ถ้าคุณไม่ได้ทุนนี้ ป่านนี้คุณเรียนจบปริญญาเอกไปแล้วมั้ง แต่บังเอิญโจทย์ของชีวิตมันยากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะฝืนในสิ่งที่คุณไม่ใช่ มันก็ยาก
นะคะ ชีวิตเราอยู่เพื่ออะไร ชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้ยืนยาวสักเท่าไหร่
เพราะฉะนั้นอย่าไปถึงกับกังวลมากในเรื่องข้อสอบ หรือเรื่องของ Aptitude Test ถ้าคุณจะเตรียมตัว คุณนึกง่าย ๆ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องทำอะไร แล้วคุณคิดว่า ทำไมคุณถึงคิดว่า คุณทำสิ่งนั้นได้ดี คุณมีลักษณะอย่างไร คุณชอบช่วยเหลือคนอื่นไหม คุณทำงานกับคนอื่นได้ดีหรือเปล่า คุณชอบไปอยู่ที่แปลก ๆ ในที่ที่คุณไม่รู้จักใครสักคนเลยหรือไม่ พูดก็คนละภาษา อาหารก็คนละแบบ อะไรประมาณนั้น
ถ้าใช่...ก็ไปค่ะ
ถ้าไม่ใช่...อยากลองไปดูก็ได้ค่ะ
กระบวนการคัดเลือกจะบอกคุณเอง
ขอบคุณค่ะ
พิธีกร
อาจารย์ครับ แล้วจริง ๆมันฝึกได้ไหมครับ
หรือว่าอย่าไปพยายามฝึก ???
ถ้าเรารู้ว่าลักษณะงานที่เราจะสมัครเป็นแบบนี้ ๆ แล้วเรายังไม่เคยสัมผัสกับมันจริง ๆ เราสามารถไปฝึก เพื่อช่วยให้เรา Match กับงานได้มากขึ้นไหมครับ
ดร.รัชนีวรรณ
ดิฉันว่าได้ในระดับหนึ่งนะคะ
ยกตัวอย่างเช่น ลักษณะของงานที่คุณอยากทำอย่างลูกเรือ จะต้องติดต่อกับคนเยอะ ๆ แต่คุณเป็นคนแบบใครที่ไหนอย่างมายุ่งกับฉัน ว่างเมื่อไหร่ฉันก็ปิดประตู ไม่อ่านหนังสือก็ดูทีวี แล้วถ้าเลือกเล่นกีฬาฉันก็เลือกที่จะไปว่ายน้ำ หรือว่าไปจ๊อคกิ้ง เพราะไม่ต้องยุ่งกับใคร อันนั้นก็บอกได้ว่า มันเป็นแก่นแท้ของตัวคุณเองที่คุณไม่ชอบยุ่งกับใคร ซึ่งถ้าคุณเป็นคนแบบนั้น แล้วต้องมาทนทำงานที่มันต้องเจอคนเยอะ ๆ ตลอดเวลามันก็ยาก
แต่ถ้า... คุณเป็นคนแบบ...ฉันมันเป็นอย่างไรนะ นั่นก็ได้ นี่ก็ได้ ลองอะไรก็ได้ค่ะ สถาบันติวก็อาจช่วยคุณได้นะคะว่า คุณเหมาะหรือเปล่า...ใช่ไหม ..เพราะงานบางอย่างมันก็ไม่ใช้ความสามารถอย่างเดียว มันเป็นลักษณะของการสอดคล้องกันในหลายเรื่องหลายอย่าง
ทีนี้ในความรู้สึกว่าไปติว... ไปติว.. ความรู้สึกมันเป็นลบนะคะ แปลว่าฉันไม่สามารถ หรือแปลว่าฉัน TRICKY หน่อย ๆ หรือเปล่าถึงต้องไปติว จริง ๆ ไม่ใช่ประมาณนั้นหรอกค่ะ เวลาที่เราเข้าโรงเรียนฝึกหรือเราไปหาความรู้เพิ่มมันเป็นการเตรียมตัวเราให้พร้อมกับตัวงานมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่างโรงเรียนที่จะช่วยกระบวนการอย่างนี้นะคะ ก็ลองไปได้ เพราะว่าไม่ใช่ติวแบบ ถามอย่างนี้ ตอบข้อ ก. ถามอย่างนี้ ตอบข้อ ข. มันคนละความรู้สึกกัน นะคะ
ขอบคุณค่ะ
ในช่วงนี้มีวิทยากรท่านใดอยากจะเสริมท่านอาจารย์บ้างไหมครับ แต่ที่ผมเห็นชัด ๆ ก็คือภาษาต่างประเทศ ถ้าติวเนี่ย น่าจะมีผลดีใช่ไหมครับ มีท่านใดจะเสริมไหมครับ
คุณธัญลักษณ์
ในฐานะที่เป็น Instructor ของโรงเรียนประเภทนี้ด้วย
นะคะ ก็เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ในเรื่องของ Aptitude เราคงติวกันไม่ได้ อย่างที่บอกนะคะ จะมีการ fake good-fake bad ซึ่งนักจิตวิทยา เขาก็จะมีวิธีการแยกองค์ประกอบบุคลิกภาพของคนตามหลักวิชา
ที่นี้ในเรื่องของภาษา ก็อย่างที่พิธีกรบอกว่า เราสามารถที่จะติวได้ อย่างเช่น สมมุติว่าเราติวภาษาอังกฤษก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส หรือเป็นสจ๊วต อย่างเดียวนะคะ มันเป็นความรู้เสริมที่เราสามารถจะไปทำงานอื่นหรือสามารถไปต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้
ที่นี้เราจะพูดถึงการติวแอร์หรือสจ๊วต อย่างแรกเลย อย่างที่ท่านอาจารย์เกริ่นมาเบื้องต้นแล้วว่า จะต้องมีบุคลิกภาพอะไรบางอย่าง ทำไมเราถึงอยากเป็นนะคะ ในฐานะที่พี่เกดเองเป็นผู้สอนในคอร์สติวเพื่อจะเป็นแอร์และสจ๊วตมาค่อนข้างเยอะ ก็จะถามน้อง ๆ คำถามแรกเลยว่า ทำไมถึงอยากเป็นแอร์และสจ๊วต หลาย ๆ คน ไม่มีคำตอบ ก็ให้ไปหาคำถอบมา เพราะหากในใบสมัครมีข้อหนึ่งเป็นคำถามว่า ทำไมถึงสนใจในอาชีพนี้ อย่างน้อยเราต้องมีคำตอบให้ตัวเราก่อนว่า ทำไมถึงสนใจ และเรามีบุคลิกภาพแบบไหนอย่างไร
การเตรียมตัวสอบแอร์และสจ๊วต ค่อนข้างจะต้องเตรียมตัวเยอะนะคะ ไม่ใช่เรื่องของการเตรียมตัวเพื่อตอบคำถามอย่างเดียว ถามแบบนี้จะตอบแบบไหน ไม่ใช่ประเภทนั้น นะคะ
แต่ว่าในเรื่องของ Appearance มันค่อนข้างจะแตกต่างจากการสมัครงานอาชีพอื่น ๆ อย่างที่น้อง ๆ ก็คงจะทราบข้อมูลบ้างแล้วจากเว็บไซต์ หรือจากเอกสารต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องของการแต่งกายหรือการทำผม ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเลย จะไม่เหมือนอาชีพอื่น ๆ นะคะ
ขั้นตอนการสัมภาษณ์ก็ค่อนข้างที่จะต่างกับอาชีพอื่นๆ เท่าที่ฟังมาตั้งแต่ช่วงเช้า เราจะเห็นว่าขั้นตอนของแต่ละสายการบินนี่ค่อนข้างเยอะใช่ไหมคะ อย่างสัมภาษณ์งานทั่วไปอาจจะมีการสัมภาษณ์เพียงแค่ 1 รอบ หรือ 2 รอบ คือเต็มที่แล้ว แต่ถ้าเป็นงานสายการบิน ทุกสายการบินจะมีการสัมภาษณ์มากกว่า 2 รอบ และมีข้อเขียน เพราะฉะนั้นเรื่องของการเตรียมตัว ตรงนี้เราอาจจะต้องมีเพิ่มขึ้นมาค่ะ
แล้วก็ในเรื่องของการเตรียมตัวสัมภาษณ์ เราจะต้องเตรียมคำถามเกี่ยวกับตัวเองให้มากที่สุดนะคะ ในฐานะที่พี่เกดเองเป็นกรรมการสัมภาษณ์ด้วย แล้วก็เป็นกรรมการคัดเลือกด้วย สิ่งที่จะดูเวลาที่คนเข้ามาสัมภาษณ์นะคะ ผู้สมัครเข้ามาเราจะถามคำถามที่เป็นตัวของเขา เช่น บางทีอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับงานนี้เลย บางทีถามว่า คุณใช้โทรศัพท์มือถือเดือนละเท่าไหร่ แสดงให้เห็นถึงคุณเป็นคนชอบสังคมไหม บางคนคิดไม่ถึงใช่ไหมคะ บางคนคิดว่า เอ๊ะ...มันเกี่ยวอะไร บางคนบอกว่าใช้เดือนละ 500 เพราะจะได้รู้สึกว่าเราเป็นคนประหยัด แต่จริง ๆ แล้ววัตถุประสงค์ของกรรมการมันคนละแบบกับที่คุณคิด คำถามพวกนี้แหละที่เป็นคำถามเกี่ยวกับตัวเรานะคะ
พี่เกดจะไม่เห็นด้วยกับน้อง ๆ ที่เตรียมตัวว่า ถามแบบนี้ ต้องตอบแบบนี้ เพราะแต่ละคนมี Background แตกต่างกัน ในเรื่องการศึกษา ครอบครัว ความสามารถพิเศษ เพราะฉะนั้นตรงนี้ เวลาไปสัมภาษณ์อยากให้ดึงจุดที่เป็นจุดเด่นของตัวเราออกมา แล้วการตอบคำถามนั้นอย่าพยายามตอบว่า เราได้อะไรจากองค์กรเขา แต่เราต้องตอบว่า เราทำอะไรให้กับเขาได้บ้าง อันนี้คือสิ่งสำคัญ
กรรมการถามว่าทำไมอยากเป็นแอร์ - สจ๊วต
บอกว่าอยากจะเที่ยวรอบโลก
อยากจะได้ตั๋วฟรีบ้าง
บางคนก็บอกว่ารู้สึกเป็นงานที่ท้าทาย หลาย ๆ คนมักจะมีคำตอบแบบนี้
หรืออยากที่จะพัฒนาตัวเองในเรื่องของภาษาอังกฤษ
องค์กรเหล่านี้เขาต้องการคนที่พัฒนามาแล้วนะคะ ไม่ใช่รับเข้าไปพัฒนา เฉพาะนั้น เปลี่ยนใหม่ นะคะ เราทำอะไรให้เขาได้บ้าง ซึ่งตรงนี้ไม่บอก เพราะแต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าฉันพูดได้ 4-5 ภาษา เอาตรงนี้มาทำประโยชน์กับบริษัทเขาได้ เพราะเราสามารถเข้าใจรายละเอียดของผู้โดยสารทุกเชื้อชาติ เพราะเรามีความสามารถตรงนี้..ตรงนั้น
หรือเราเป็นคนที่มี Inter Personal Skill อย่างไร เวลาตอบปุ๊บ ยกตัวอย่างด้วยว่า คุณเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างไร มันไม่เห็นภาพต้องมีตัวอย่างด้วยค่ะ ตัวอย่างไม่ต้องหรูหราไฮโซ เป็นตัวอย่างในชีวิตจริงของเรานี้แหละค่ะว่า เราเป็นคนที่มีใจรักบริการอย่างไร เราเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างไร
การตอบคำถามนั้น...
การเตรียมตัวก็คือ เอาตัวเองออกมาให้ได้ค่ะ
พยายามกลับไปถามตัวองเยอะ ๆ เท่าที่พี่สอนมาหลาย ๆ ปี รู้สึกว่าพวกเรายังไม่ค่อยรู้จักตัวเองเท่าไหร่ คำถามอะไรที่เกี่ยวกับตัวเองมักจะตอบไม่ได้ เช่น
ทำไมเราถึงอยากเป็นแอร์ – สจ๊วต
ทำไมคุณถึงสนใจในอาชีพนี้
ความสามารถพิเศษของคุณคืออะไร ตรงนี้เรามักจะตอบตัวเองไม่ได้เราต้องกลับไปถามตัวเองในคำถามเหล่านี้ก่อนนะคะว่า
เรามีอะไรในตัวเราบ้าง แล้วก็ในเรื่องอื่นๆเราก็สามารถเตรียมตัวและศึกษาข้อมูลจากที่อื่น ๆ ได้ค่ะ
พิธีกร
การสัมภาษณ์ รายบุคคล ส่วนใหญ่กรรมจะให้เริ่มต้นด้วยการให้แนะนำตัวเอง สิ่งที่เราแนะตัวเอง หรือใช้อธิบายคุณลักษณะของตัวเอง มันอาจจะส่งผลย้อนกลับมาหาเราก็ได้ โดยเฉพาะคำตอบที่ท่องจำมาอย่างขึ้นใจจากหนังสือแนะนำการสอบสัมภาษณ์ แสดงว่าการตอบคำถามสามารถสะท้อนถึงความเป็นเนื้อในของเราได้ด้วย ใช่ไหมครับ คุณเสรี
คุณเสรี
สะท้อนถึงทุกสิ่งครับ
ดังนั้น ในการสอบสัมภาษณ์ เราควรตอบให้ได้แก่นแท้มาจากตัวเรา ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด จะท่องมาตอบแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นบล็อกมาจากตำรา หรืออาจจะใช้ข้อมูลของโรงเรียนติวก็ตาม เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องระวัง
โทรศัพท์มือถือยังสามารถสะท้อนตัวเราออกมาได้ ซึ่งบางครั้งเราอาจจะนึกไม่ถึง มันก็เหมือนแบบทดสอบที่เขาใช้ทดสอบเราเขาจะ Test อะไรเราไม่รู้หรอกลึกๆแล้วIce Bottomภูเขาน้ำแข็งที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ นั้น มีอะไรซ่อนอยู่เยอะแยะมากมาย ที่เราเองเราก็ไม่รู้ว่าในนั้นมีอะไรนะครับ
แล้วการทำ Group Discussion ก็มักเป็นที่นิยมกันในยุคนี้นะครับ ตราบใดที่คุณยังไม่มีข้อมูลข่าวสารที่จะไปแชร์กับคนอื่นได้ คุณก็ตายตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาผมสัมภาษณ์ ผมมักจะถามว่า เมื่อเช้าหรือวันนี้คุณได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือเปล่า หรือดูข่าวทีวีหรือเปล่า ถ้าหากว่าท่านเป็นคนที่แทบจะไม่สนใจกับข่าวสารบ้านเมือง หรือไม่สนใจข่าวสารของสังคม แล้วคุณจะมีอะไรไปเปิดประเด็นกับเขาล่ะ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องเป็นผู้ที่รับข่าวสารอยู่ตลอดเวลา จะเปิดไทยรัฐ จะเปิดหน้าดาราก็ทำได้ หน้า 3, 4, 5 ก็ต้องดูด้วยว่าบ้านเมืองเราไปถึงไหนแล้ว ข่าวสารบ้านเมืองมันเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะประเด็นที่เขาจะเปิดในการทำ Group Discussion เราไม่มีทางรู้เลยว่า กรรมการจะโยนเรื่องอะไรมาให้เรา Discuss แต่อย่างน้อยเราก็มีข้อมูลพวกนี้เป็นพื้นฐาน ทำให้เรามีอำนาจในการต่อรองหรือ Control กลุ่มได้ในระดับที่เหมาะสมครับ
ขอบคุณครับ
พิธีกร
แล้วนี่ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนนะครับว่า การที่พยายามไปติวแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาต่าง ๆ อาจจะเป็นเสมือนดาบสองคม หรือเป็นผลเสียที่สามารถพุ่งย้อนกลับเข้ามาหาตัวเราได้
เพราะฉะนั้นพยายามเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด สิ่งสำคัญก็คือ ความรู้รอบตัวที่จะต้องไปใฝ่หา แล้วก็ทักษะ
อื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับงาน ถ้าไม่มีหรือคิดว่าตัวเองมีน้อยเกินไป ก็สามารถที่จะฝึกฝนตามสถาบันที่ให้การอบรมในด้านต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือ บุคลิกภาพ ซึ่งตรงนี้สามารถที่จะพัฒนาได้ครับ
ถ้ามีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน น้องๆคงจะต้องเตรียมตัวในด้านที่เหมาะสมกับงานนะครับ
ส่วนที่เป็นในด้านใต้ของภูเขาน้ำแข็งหรือทางจิตวิทยา พยายามอย่าไปยุ่งกับมันจะดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียนเสริมก็เรียนในสิ่งที่ควรจะเรียนดีกว่านะครับ